วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

-พื้นทีปฏิบัติงาน เครื่องมือ อุปกรณ์

พื้นทีปฏิบัติงาน เครื่องมือ อุปกรณ์
การเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นการเลี้ยงชิ้นส่วน เซลล์ โพรโทพลาสต์ บนอาหารสังเคราะห์ ในอาหารสังเคราะห์มีส่วนประกอบที่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อจุลิทรีย์ด้วย ในการเลี้ยงเนื้อเยื่อจำเป็นที่ต้องทำการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมากับวัสดุพันธุ์พืช อาหาร เครื่องมือที่ใช้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือที่ใช้ในการตัดและเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งต้องทำในสภาพปลอดเชื้อ ความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถ้าไม่สะอาดเนื้อเยื่อที่เลี้ยงจะตายเพราะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อให้ได้สภาพที่ปลอดเชื้อในระดับที่สูง ต้องคำนึงถึงห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยตั้งแต่เริ่มสร้างห้องปฏิบัติการ

การเลือกทำเลที่จะสร้างห้องปฏิบัติการ ดังนี้

- มีฝุ่นน้อย
- มีไฟฟ้า สำหรับในสถานที่ที่มีไฟฟ้าเสียบ่อย ๆ ควรที่จะต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง (stand by generator) และมีตัวตัดไฟฟ้าอัตโนมัติในกรณีผิดปกติ เพื่อป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างเสียหายอาจเนื่องจากกระแสไฟฟ้ากระชาก
- มีแหล่งน้ำสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- ควรเลี่ยงพื้นที่ ที่มีความชื้นเกินไป เพราะความชื้นจะทำให้เกิด การปนเปื้อนได้ค่อนสูงในการเลี้ยง และห่างไกลจากพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ หรือโรงเห็ด

ส่วนต่างๆ ของห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

สามารถแบ่งเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้
1. ห้องพักนักวิจัย ซึ่งจะจัดเป็นมุมเล็กๆ ของห้องในส่วนนี้จะใช้เป็นที่เก็บตำรา หรือเอกสารทางวิชาการสำหรับนักวิจัยด้วย
2. ห้องเก็บสารเคมี เพื่อความสะดวกในการหยิบใช้ ควรเก็บสารเคมีไว้ในที่เฉพาะและเป็นหมวดหมู่ไว้ในตู้วางกับพื้น หรือติดผนังก็ได้
3. ห้องเตรียมอาหาร ส่วนนี้จะต้องการเนื้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสองห้องแรก สำหรับการเตรียมอาหารเลี้ยงเนื้อเยื่อ
4. ห้องย้ายเนื้อเยื่อ ในห้องนี้จะต้องมีความสะอาดและปลอดเชื้อ จึงควรจะปิดกั้นห้องให้สนิท และให้ผู้คนผ่านเข้าออกให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
5. ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถ้าเป็นห้องปฏิบัติการที่ไม่ใหญ่นัก ห้องนี้อาจจัดอยู่ร่วมกับห้องย้ายเนื้อเยื่อ ในทำนองเดียวกันห้องนี้ต้องมีความปลอดเชื้อ จะต้องป้องกันเชื้อและรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ จึงควรเป็นห้องที่ผู้คนผ่านน้อยที่สุด

อุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

.ในห้องปฏิบัติต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ห้องเตรียมอาหาร ควรมีอุปกรณ์และเครื่องมือ ดังนี้
- เครื่องชั่ง มีทั้งแบบอย่างหยาบ คือ ชั่งน้ำหนักต่ำสุด 0.01 กรัม และอย่างละเอียดชั่งได้ต่ำถึง 0.001 กรัม หรือ 0.0001 กรัม
- ช้อนตักสารเคมี มีทั้งแบบที่เป็นโลหะและที่เป็นพลาสติก
- เครื่องวัดความเป็นกรดเป็นด่าง
- เตาอุ่นความร้อนและเครื่องคน ใช้สำหรับอุ่นหรือหลอมอาหารพร้อมด้วยตัวคนระบบแม่เหล็ก
- เตาอบไมโครเวฟ ใช้สำหรับเคี่ยวหรือหลอมอาหาร นอกจากนี้สามารถใช้เตาลวดความร้อนหรือเตาแก๊สแทนได้ ในกรณีที่เตรียมอาหารคราวละมากๆ เตาแก๊สจะเหมาะสมกว่า
- ตู้เย็น สารเคมีบางตัวมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะทำให้เสื่อมคุณสมบัติ ได้ เช่น ฮอร์โมน วิตามิน รวมทั้งสารละลายเข้มข้นของอาหาร
- เตาอบความร้อน ใช้สำหรับอบฆ่าเชื้อที่ติดมากับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่สามารถทนต่อความร้อนสูงๆ ได้ เช่น พวกที่เป็นเครื่องแก้วและโลหะ โดยอาศัยความร้อนที่ใช้ คือ ประมาณ 180 องศาเซลเซียส เวลานานประมาณ 3 ชั่งโมง
- หม้อนึ่งความดัน ใช้สำหรับนึ่งฆ่าเชื้อในอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเครื่องมือที่ไม่สามารถทนต่อความร้อนของเตาอบความร้อนได้ ความดันที่ใช้ประมาณ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เวลานานประมาณ 15 นาที
- เยื่อกรอง เนื่องจากมีสารเคมีบางชนิดที่ไม่สามารถผ่านการฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันได้ ทำให้เสื่อมคุณภาพได้ จึงต้องกรองโดยมีรูกว้างประมาณ 0.22 ไมครอน ซึ่งสามารถกรองเอาอนุภาคของแบคทีเรียและสปอร์ของราได้
- เครื่องแก้วต่างๆ เช่น หลอดทดลอง ขวด ขวดรูปชมพู่ ปิเปต กรวยแก้ว และแท่งแก้วคนสาร เป็นต้น

2. ห้องย้ายเนื้อเยื่อ ควรมีอุปกรณ์และเครื่องมือ ดังนี้
- ตู้ย้ายเนื้อเยื่อ เป็นตู้กรองอากาศให้บริสุทธิ์ปลอดจากอนุภาคของราและแบคทีเรีย
- ตะเกียง ใช้ตะเกียงแอลกอฮอล์ หรือแก๊ส
- กระดาษกรอง
- จานแก้ว
- มีดผ่าตัดแบบต่างๆ พร้อมใบมีด
- ปากคีบ
3. ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ ควรมีอุปกรณ์และเครื่องมือ ดังนี้
- เครื่องควบคุมอุณหภูมิ ภายในห้องจะต้องมีอุณหภูมิประมาณ 23 องศาเซลเซียส
- ชั้นสำหรับวางขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีขนาดที่เหมาะสมสะดวกต่อการทำงานหรือติดตามการปนเปื้อนและการเจริญเติบโต ชั้นต้องไม่สูงเกินไป และต้องมีหลอดไฟให้แสงสว่างด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่ให้ความสว่างประมาณ 3,000 ลักซ์
- ตัวตั้งเวลา ใช้สำหรับตั้งเวลาในการปิดเปิดไฟ เพื่อกำหนดความยาวของช่วงแสง
- เครื่องเขย่า สำหรับเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในสภาพอาหารเหลว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น