วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

-ความหมายการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

ความหมาย

                การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช  เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่ง  แต่มีการปฏิบัติภายใต้สภาพที่ควบคุม  เรื่องความสะอาดแบบปลอดเชื้อ  อุณหภูมิ  และแสง  ด้วยการนำชิ้นส่วนของพืชที่ยังมีชีวิต  เช่น ลำต้น ยอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ อับละอองเกสร เป็นต้น  มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห และชิ้นส่วนนั้นสามารถ เจริญและพัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์  มีทั้งส่วนใบ ลำต้น และรากที่สามารถนำออกปลูกในสภาพธรรมชาติได้
              ที่ผ่านมามีการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชประยุกต์ใช้กับงานด้านเภสัชวิทยา  และชีววิทยา  แต่ปัจจุบันมีการพัฒนา  และนำมาใช้แก้ปัญหาหรือเพื่อประโยชน์ในภาคเกษตร  และภาคอุตสาหกรรมกันมากขึ้น เช่น การนำเมล็ดไผ่มาผลิต-ขยายด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ไผ่ออกดอกประมาณปี  2538 หรือการนำหน่อที่มีคุณลักษณะที่ดีของหน่อไม้ฝรั่งมาผลิต-ขยายด้วย วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  เพื่อลดปัญหาการใช้เมล็ดซึ่งมีการคละเพศ  นอกเหนือจากราคาของเมล็ดพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง  และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกด้วย  เป็นต้น

ประโยชน์

     คุณสมบัติที่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ของวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีหลายข้อพอสรุปได้ดังนี้
        1.  สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น  หากพืชสามารถเพิ่มปริมาณได้ 3 เท่า ต่อการย้ายเนื้อเยื่อลงอาหารใหม่ทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง  เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน จะสามารถผลิตต้นพันธุ์พืชได้ถึง 243 ต้น
        2.  ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค  โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส มายโคพลาสมา  ด้วยการตัดเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น  ซึ่งยังไม่มีท่อน้ำท่ออาหาร  อันเป้นทางเคลื่อนย้ายของเชื้อโรคดังกล่าว
        3.  ต้นพืชที่ผลิตได้  จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ คือ มีลักษณะตรงตามพันธุ์  ด้วยการใช้เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นตาพืชพัฒนาเป็นต้นโดยตรง  หลีกเลี่ยงขั้นตอนการเกิดกลุ่มก้อนเซลล์ที่เรียกว่า แคลลัส
        4.  ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ  ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐานและเก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกันหรือในเวลาเดียวกัน
        5.  เพื่อการเก็บรักษาหรือแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างประเทศ เช่น การมอบเชื้อพันธุ์กล้วยในสภาพปลอดเชื้อขององค์กรกล้วยนานาชาติ (INIBAP) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร  เมื่อปี พ.. 2542
        6.  เพื่อประโยชน์ด้านการสกัดสารจากต้นพืช  นำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ  เช่น ยาฆ่าแมลงยารักษาโรค  เป็นต้น
        นอกจากนี้  ยังมีคุณประโยชน์อีกหลายประการ  เช่น เพื่อการผลิตพืชทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนกรดทนเค็ม เป็นต้น  หรือการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาทางชีวเคมี และสรีรวิทยาของพืช เป็นต้น ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำประโยชน์ข้อ 1-4 มาเป็นข้อกำหนดคุณลักษณะพันธุ์พืชที่ผลิตด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก่อนนำเข้าระบบส่งเสริมสู่เกษตรกร  คือ ต้นพันธุ์พืชที่ผลิตได้ต้องปลอดโรค มีลักษณะตรงตามพันธุ์และสามารถขยายได้ปริมาณมากในเชิงอุตสาหกรรม  นับเป็นหน่วยงานแรกของภาครัฐที่มีการนำเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาพัฒนาใช้กับงานขยายพันธุ์พืชเศรษฐกิจในเชิงพานิชย์อย่างเป็นรูปธรรมและพร้อมนำไปใช้ในระบบส่งเสริม  ตัวอย่างพันธุ์พืชเพาะเลี้ยงที่มีการทดลองนำร่องปลูกในสภาพไร่  และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย อ้อย สับปะรด ไผ่ เบญจมาศ และสตรอเบอรี่ เป็นต้น

อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้

     อุปกรณ์ที่ใช้กับงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อค่อนข้างมีมากชนิด  การจัดวางเครื่องมือต้องคำนึงถึงความสะดวกใน  การใช้ต่อพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดถ้ากำหนดชนิดของเครื่องมือตามตำแหน่งของการใช้งานภายในห้องปฏิบัติการ จะแบ่งออกเป็น 3 ห้องใหญ่ๆ คือ
     1. ห้องเตรียมอาหาร
     2. ห้องตัดเนื้อเยื่อ
     3. ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ
      ภายในแต่ละห้องจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้งานเป็นประจำ แตกต่างกัน ไปตามลักษณะงานดังนี้
            (1)  ห้องเตรียมอาหาร  เป็นห้องที่ใ่ช้เก็บสารเคมีและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการชั่งสาร  หรือผสมอาหาร
 หม้อนึ่งความดันไอ  ตู้อบความร้อนแห้ง  ดังนี้
            1.1  สารเคมี  จัดวางในตู้หรือบนชั้นวางของอย่างเป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่หรือตามอักษรที่สำคัญ
 ควรอยู่บริเวณเดียวกับที่วางเครื่องชั่ง
            1.2  เครื่องชั่ง  เครื่องวัดความเป็นกรด-ด่าง  ควรวางอยู่บนโต๊ะที่มั่นคงไม่สั่นสะเทือนง่าย
            1.3  เครื่องแก้วและเครื่องมืออื่นๆ  ควรมีที่เก็บมิดชิด  และไม่ห่างจากอ่างน้ำมากนัก
            1.4  อ่างน้ำ  ใช้สำหรับล้างทำความสะอาดเครื่องมือต่างๆ  เพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงาน  อาจอยู่มุมหนึ่งของบริเวณห้อง
            1.5  บริเวณเตรียมอาหาร ควรเป็นโต๊ะหรือพื้นที่ที่มีความสูงพอที่จะปฏิบัติงานในลักษณะยืนหรือนั่ง
 ก็ได้
            1.6  เครื่องกรองน้ำ  อาจใช้เครื่องกรองน้ำดื่มตามบ้านได้
            1.7  เครื่องชั่ง  มี 2 แบบ คือ เครื่องชั่งอย่างละเอียด และเครื่องชั่งอย่างหยาบ
                     --  เครื่องชั่งอย่างละเอียด  สามารถชั่งได้เป็นมิลลิกรัม  หรือทศนิยม 4 ตำแหน่ง  ใช้สำหรับชั่งสารเคมี  วิตามิน  และสารควบคุมการเจริญเติบโต  ซึ่งใช้ปริมาณน้อยมาก
                      --  เครื่องชั่งอย่างหยาบ  ชั่งได้เป็นกรัม  หรือทศนิยม 2 ตำแหน่ง  ใช้สำหรับชั่งสารเคมีที่ใช้ปริมาณมาก  เช่น  วุ้น  และน้ำตาล
            1.8  เครื่องวัดความเป็นกรด-ด่าง (pH-meter)  ใช้วัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ของอาหารสังเคราะห์
 ควรอยู่ที่ระดับ 5.6
            1.9  เครื่องคนสารละลาย  ใช้สำหรับคนสารละลายเมื่อใส่แท่งคนไฟฟ้า (Magnetic stirror) ขณะ
 เตรียมอาหาร
            1.10 เตาต้มอาหาร  อาจเป็นเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ส  ใช้สำหรับต้มอาหารเพื่อให้วุ้นละลาย
            1.11 ตู้อบความร้อนแห้ง (Hot air oven) ใช้ในการอบฆ่าเชื้อเครื่องแก้วและอุปกรณ์ในการตัดย้าย
 เนื้อเยื่อ  โดยใช้อุณหภูมิ  180 องศาเซลเซียส  เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง
            1.12 เครื่องแก้ว  ปัจจุบันนิยมใช้เป็นพลาสติกเพราะลดความเสียหายจากการแตกร้าวได้ค่อน ข้างมาก
                   --  ฟลาสค์หรือขวดรูปชมพู่  ขนาด 50-1,000 มิลลิลิตร
                   --  บีกเกอร์ ใช้ปรับปริมาตรของอาหาร ขนาด 20-1,000 มิลลิลิตร
                    --  กระบอกตวง ขนาด 5-1,000 มิลลิลิตร
                    --  ไปเปต ใช้ดูดสารละลายปริมาณน้อย ขนาด 0.1-10 มิลลิลิตร
             1.13 หม้อนึ่งความดันไอ (Autoclave) ใช้นึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารวุ้นโดยใช้ความร้อน ที่
 อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 15-20 นาที อาจเป็นแบบหม้อไฟฟ้า
 อัตโนมัติ หรือเป็นแบบที่ใช้ความร้อนจากเตาแก๊ส มีทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน  หม้อแบบแนวนอนจะมีความจุมากกว่าหม้อแบบแนวตั้ง และมีราคาค่อนข้างสูง
                    --  หม้อนึ่งความดันไอแบบใช้ไฟฟ้าแนวตั้ง เป็นแบบที่ได้รับความนิยม มีใช้ในห้อง
 ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเกือบทุกแห่ง
                   --  หม้อนึ่งความดันไอ แบบใช้ไฟฟ้าแนวนอน สามารถนึ่งอาหารได้ปริมาณมากกว่าหม้อ
 แบบแนวตั้ง
                   --  หม้อนึ่งความดันไอ แบบใช้แก๊ส ใช้หลักการเดียวกับหม้อนึ่งเชื้อเห็ดประสิทธิภาพการ
 ทำงานสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติงาน  สามารถควบคุมอุณหภูมิ และความดันให้คงที่ตามกำหนดเวลา ได้
 หรือไม่
            (1)  ห้องตัดเนื้อเยื่อ เป็นห้องที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมากที่สุดศูนย์รวมของกิจกรรมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
 จะอยู่ในห้องนี้  ควรเป็นห้องที่มีระบบป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ  ผิวพื้นห้องทุกด้านทั้งฝาผนัง พื้นห้อง  ควร
 มีผิดเรียบมัน  ไม่เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง  ทำความสะอาดง่าย  วัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในห้องนี้จะประกอบไปด้วยตู้
 ตัดเนื้อเยื่อ  จำนวนมากน้อยเป็นไปตามปริมาณการผลิตของแต่ละแห่ง  ดังนี้ 
            2.1 ตู้ตัดเนื้อเยื่อ  เป็นตู้ปลอดเชื้อที่ใช้กับงานตัดย้ายชิ้นพืช  มีระบบการหมุนเวียนของอากาศภายในตู้ที่สะอาด  ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ตลอดเวลาของการปฏิบัติงาน  ด้วยระบบการถ่ายเทอากาศผ่านแผ่นกรองที่มีรูพรุน ขนาดเล็กประมาณ 0.3 ไมครอน  ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ไม่
 สามารถเล็ดลอดผ่านได้  ทั้งนี้ควรเช็ดทำความสะอาดตู้ทั้งก่อนปฏิบัติงานและหลังเลิกงานในแต่ละวัน  โดยเช็ด ออกด้านนอกตู้เสมอด้วยแอลกอฮอล์ 70% รวมทั้งการเปลี่ยนแผ่นกรองเชื้อจุลินทรีย์ตามกำหนดเวลาเพื่อรักษา ประสิทธิภาพความเป็นตู้ปลอดเชื้อ
            2.2 วัสดุหรือเครื่องมือที่ใช้ตัดเนื้อเยื่อ  ได้แก่
                 -  มีดผ่าตัด นิยมใช้ด้ามมีดเบอร์ 3 กับใบมีดเบอร์ 10 หรือ11
                 -  ปากคีบ (forcepts) ใช้หนีบจับชิ้นพืช มีขนาดความสั้นยาว  ต่างกันไปขึ้นกับความสะดวกในการปฏิบัติงาน
                 -  ตะแกรงสำหรับวางมีดและปากคีบ
                 -  ตะเกียงแอลกอฮอล์
                 -  จานรองหรือกระดาษ ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วใช้รองตัดชิ้นเนื้อเยื่อ
            วัสดุเหล่านี้ก่อนนำมาตัดเนื้อเยื่อต้องทำการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์โดยการนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันไอหรือการอบความร้อนแห้ง  ภายหลังสิ้นสุดการปฏิบัติงานทุกครั้งต้องนำเครื่องมือเหล่านั้นมาล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน  เช็ดให้แห้ง  ห่อด้วยกระดาษตะกั่วแล้วจึงนำไปฆ่าเชื้อจุลินทรีย์เพื่อการนำมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป
            2.3 อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่
                 1.  เก้าอี้มีพนักสำหรับพนักงานตัดเนื้อเยื่อ
                 2.  รถเข็นสำหรับวางขวดอาหาร ขวดเนื้อเยื่อพืช
            2.4 อุปกรณ์ดับเพลิง  ควรมีประจำทุกชั้นและทุกห้อง  โดยเฉพาะห้องตัดเนื้อเยื่อเพราะขณะปฏิบัติงาน  มีการลนไฟฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ตลอดเวลา  อาจเกิดอุบัติเหตุไฟลุกไหม้ภายในตู้ได้
            (3)  ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ  เป็นห้องปลอดเชื้อ  ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 25-25 องศาเซลเซียส ใช้ เป็นสถานที่วางขวดเนื้อเยื่อพืช  เป็นห้องที่ไม่ควรอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าออกโดยเด็ดขาดเพราะ จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในขวดเนื้อเยื่อพืช  อาจทำให้เกิดความเสียหายกับต้นพันธุ์พืชในภาพรวมได้  อุปกรณ์ที่สำคัญที่ติดตั้งอยู่ในห้อง  ได้แก่
            3.1 ชั้นวางเนื้อเยื่อ  วัสดุที่ประกอบเป็นชั้นอาจทำด้วยไม้  เหล็กฉาก  แสตนเลส  หรืออลูมิเนียมเป็นต้น  ขนาดกว้าง x ยาว x สูง ประมาณ  60 x 125 x 200 มีชั้นวาง 5 ชั้น  แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร  โดยส่วนที่ทำเป็นพื้นควรจะเป็นกระจกหรือฟอร์ไมก้าสีขาว  หรือเป็นตาข่ายโปร่ง  มีหลอดไฟฟ้าที่ให้ความสว่างแก่พืชเพื่อการสังเคราะห์แสง  นิยมใช้หลอดไฟที่เรียกว่า  Grolux เพราะมีคุณสมบัติของการให้แสงสีแดง  ซึ่งเหมาะกับการสังเคราะห์แสงของพืช  แต่หลอดชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง  จึงอาจใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์  ชนิดธรรมดาที่ใช้กับอาคารบ้านเรือนก็ได้ ทั้งนี้การติดตั้งหลอดไฟควรให้หลอดอยู่ห่างจากชั้นวางเนื้อเยื่อในระยะประมาณ  20 เซนติเมตร  และแต่ละหลอดอยู่ห่างกันประมาณ  30 เซนติเมตร เพื่อให้ได้ความเข้มแสง 2,000-3,000  ลักซ์  เมื่อวัดด้วยเครื่องมือ ที่เรียกว่า  Lux meter  โดยเปิดไฟติดต่อกันนาน16 ชั่วโมงต่อวัน  จึงควรมีนาฬิกาควบคุมการปิด-เปิดไฟฟ้า  (timer) ด้วย
            3.2 เครื่องเขย่าแบบโยก  ใช้สำหรับเนื้อเยื่อพืชที่เลี้ยงในอาหารเหลว  มีลักษณะการเคลื่อนที่ในแนวขนานกับพื้นโลกอัตรา 100-150 รอบต่อนาที  เป็นการเพิ่มออกซิเจนลงไปในอาหารเพื่อให้เนื้อเยื่อพืชได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

 กิจกรรมภายในห้องเตรียมอาหาร

      การปฏิบัติงานภายในห้องเตรียมอาหาร  จะเริ่มต้นจากการชั่งสารตามสูตรอาหารที่ต้องการ ผสมเป็นสต็อกสารละลาย  ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง หลอมอาหาร และบรรจุขวดก่อนนึ่งฆ่าเชื้อเพื่อรอการนำไปใช้ตามลำดับดังนี้
        1.  ชั่งสารเคมี  เป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง  ต้องการความแม่นยำสูง  โดยเฉพาะสาร เคมีที่ใช้ปริมาณน้อย  จึงต้องชั่งด้วยเครื่องชั่งอย่างละเอียด  สามารถชั่งได้ทศนิยม 4 ตำแหน่ง
       2.  สำหรับสารเคมีที่ใช้ปริมาณมาก  จะชั่งด้วยเครื่องชั่งอย่างหยาบ ชั่งได้ทศนิยม 2  ตำแหน่ง เช่น น้ำตาล หรือวุ้น
        3.  ผสมสารเคมี  ต้องทำให้ส่วนประกอบของสารเคมีละลายผสมเข้ากันได้หมด โดยใช้เครื่องคนสารละลายร่วมกับแท่งคนไฟฟ้า
        4.  วัดความเป็นกรด-ด่าง (pH)  ให้ปรับใช้ที่ระดับ 5.6 ซึ่งเหมาะสมต่อการที่พืชจะนำธาตุ อาหารไปใช้ในการเจริญเติบ แต่ในอาหารบางสูตรอาจใช้ที่ระดับ pH 5  เช่น  อาหารกล้วยไม้
        5.  หลอมอาหาร  เมื่อผสมอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว  นำมาหลอมวุ้นให้ละลายบนเตาแก๊สหรือไมโครเวฟก็ได้
        6.  กรอกอาหาร  ลงภาชนะต่างๆ  เช่นขวดหรือถุงหรือกล่องพลาสติก เป็นต้น แต่ภาชนะที่ต้องทนความร้อน และสิ่งที่ต้องระมัดระวังขณะกรอกอาหาร คือ พยายามอย่าให้อาหารเลอะปาก ภาชนะ  เพราะเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ได้ง่าย
        7.  อาหารวุ้นในขวด  กรอกอาหารลงขวดขนาด 4 ออนซ์ (ขวดน้ำพริกเผา) ปริมาณอาหารที่กรอกขวดละ 20-25 มิลลิลิตร (1 ลิตรกรอกได้ประมาณ 40-45 ขวด)  ปิดฝาให้สนิทนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ
        8.  อาหารวุ้นในถุง  กรอกอาหารลงถุงขนาด 4*6 นิ้ว (ถุงร้อน) ปริมาณอาหารที่กรอกถุงละ30-35 มิลลิลิตร (1 ลิตร กรอกได้ประมาณ 25-30 ถุง) นำไปนึ่งฆ่าเชื้อ
        9.  นำอาหารวุ้นเข้าหม้อนึ่งความดันไอ  เพื่อนึ่งฆ่าเชื้อ  เมื่อเตรียมอาหารเรียบร้อยแล้วควรทำให้ปลอดเชื้อภายในวันเดียวกัน  ด้วยหม้อนึ่งความดันไอที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 15-20 นาที (เวลาอาจปรับเปลี่ยนตามขนาดของภาชนะ และปริมาตรของอาหาร)  เมื่อนึ่งฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว รีบนำอาหารออกจากหม้อนึ่งความดันไอทันทีที่ความดันลดลงเป็น 0 ถ้าเป็นขวดควรปิดฝาให้แน่นเนื่องจากฝาขวดอาจขยายตัว เมื่อผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว  และควรเก็บไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนนำไปใช้  เพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่า ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์
        10.  สต็อกอาหารวุ้นผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว  เก็บไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนนำมาใช้

  กิจกรรมภายในห้องตัดเนื้อเยื่อ

       จะเป็นการตัดย้ายเนื้อเยื่อไปเลี้ยงบนอาหารใหม่  ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคปลอดเชื้อ เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ  ต้องเตรียมตัวให้อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานตั้งแต่ทำความสะอาด  มือและแขนด้วยสบู่ สวมผ้าคลุมผม ใส่ถุงมือ ผ้าปิดปากปิดจมูก และสวมชุดปฏิบัติการ เป็นต้น ตามลำดับ ดังนี้
         1.  การรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ และสวมชุดปฏิบัติการประกอบด้วยถุงมือ ผ้าคลุมผม ผ้าปิดปากปิดจมูก  และเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้าห้องปฏิบัติการทุกครั้ง
         2.  เช็ดทำความสะอาดตู้ปลอดเชื้อก่อนใช้งานและควรเปิดสวิทซ์ตู้ให้ระบบต่างๆ ภายในตู้ทำงานก่อนปฏิบัติงาน 15-30 นาที
         3.  วางอุปกรณ์ที่ใช้ตัดเนื้อเยื่อในตำแหน่งที่เหมาะสมและสะดวกต่อการปฏิบัติงาน
         4.  การลนไฟเครื่องมือที่ใช้ปฏิบัติงานเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนเริ่มตัดเนื้อเยื่อ
         5.  ตัดเนื้อเยื่อปลายยอด apical meristem ในกรณีที่ผลิตปลอดโรค
         6.  ตัดเนื้อเยื่อระยะเพิ่มปริมาณภายในตู้ปลอดเชื้อ
         7.  นำชิ้นพืชที่ตัดแบ่งวางเลี้ยงบนอาหารในขวดก่อนปิดฝา
         8.  ลนไฟปิดปากถุง
         9.  ลงบันทึกชนิดพืชและ วัน/เดือน/ปี ที่ตัดย้าย
        10.  เนื้อเยื่อพืชพร้อมนำเข้าเรียงบนชั้นในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ควบคุมแสง  และอุณหภูมิ
 กิจกรรมภายในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ
       1.  นำขวดเนื้อเยื่อพืชที่เปลี่ยนอาหารใหม่  เข้าห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ
         2.  ทำความสะอาดชั้นเรียงพืชด้วยแอลกอฮอล์ 70%  ก่อนเรียงเนื้อเยื่อพืช
         3.  นำถุงเนื้อเยื่อพืชวางเรียงบนชั้นที่มีความเข้มแสง 2,000-3,000 ลักซ์
         4.  เนื้อเยื่อพืชระยะเพิ่มปริมาณในขวด
         5.  เนื้อเยื่อพืชระยะสุดท้าย (เกิดราก) ในถุง
         6.  ตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์หากพบจะต้องเก็บทิ้งทันที  หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้สปอร์ของเชื้อราแพร่กระจายออกจากขวดสู่บรรยากาศของห้องได้
         7.  คัดเลือกแม่พันธุ์ เพื่อการตัด-ขยาย
         8.  บันทึกรายละเอียดและลักษณะของชิ้นพืช
         9.  เตรียมส่งพืชเนื้อเยื่อออกปลูกในสภาพโรงเรือน
 เมื่อต้นพันธุ์พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ผลิตได้ครบจำนวนตามเป้าหมาย จะถูกจัดเตรียมเพื่อนำออกอนุบาล ในสภาพโรงเรือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น